วันอังคารที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2552

ทรัพยากรดิน

ทรัพยากรดิน
ดินเป็นสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ เกิดจากการสลายตัวผุพังของหินชนิดต่าง ๆ โดยใช้เวลาที่นานมาก หินที่สลายตัวผุกร่อนนี้จะมีขนาดต่าง ๆ กัน เมื่อผสมรวมกับซากพืช ซากสัตว์ น้ำ อากาศ ก็กลายเป็นเนื้อดินซึ่งส่วนประกอบเหล่านี้จะมากน้อยแตกต่างกันไปตามชนิดของดิน
ส่วนประกอบของดิน
ดินเป็นของผสมระหว่างสารอนินทรีย์ อินทรีย์ น้ำและอากาศในดิน ส่วนประกอบทั้งหมดจะแปรผันตามชนิดของดิน สถานที่ อากาศ และอื่น ๆ
1.สารอนินทรีย์
เป็นส่วนประกอบที่มีปริมาณมากที่สุด และเป็นองค์ประกอบที่สำคัญในการควบคุมชนิดของเนื้อดิน สารเหล่านี้ได้มาจากการสลายตัวของหินและแร่ เกิดเป็นอนุภาคขนาดต่าง ๆ 3 ชนิด คือ
1.เศษแร่ขนาดเล็กละเอียดหรือที่เรียกว่าอนุภาคขนาดเม็ดดินเหนียว มีสมบัติชอบดูดซับจับรวมกันเองเป็นเม็ดขนาดใหญ่และยังคงสมบัติความเหนียว เมื่อเปียกมีความสามารถดูดยึดน้ำและอาหาร แร่ธาตุบางชนิดไว้ด้วย
2.อนุภาคใหญ่ หยาบ มีเหลี่ยมมุม หรือเรียกว่า อนุภาคขนาดเม็ดทรายไม่จับตัวกันเอง ไม่ดูดยึดอาหาร แร่ธาตุแต่ถ้ารวมตัวกับเม็ดดินเหนียวทำให้เกิดเป็นเม็ดดินที่โตขึ้นได้
3.แร่บางชนิดที่เป็นแผ่นแบนและมีขนาดปานกลาง เรียกชื่อเฉพาะว่าอนุภาค เม็ดซิลท์ ไม่ค่อยจับเกาะกันเองและไม่จับอนุภาคอื่น มักจะเรียงซ้อนกันเป็นแผ่น ไม่ค่อยดูดยึดน้ำและอาหารแร่ธาตุ มันเป็นตัวการที่ไปอุดตันตามช่องว่างต่างๆ กีดกันการแทรกซึมน้ำกักลงไปในดิน
อนุภาคขนาดต่างๆ ทั้ง 3 ชนิดผสมกันในอัตราต่างๆ ตามประเภทของเนื้อดิน ถ้าดินใดมีอนุภาคขนาดเม็ดทรายมาก ดินนั้นมีเนื้อหยาบ เรียกว่า มีเนื้อดินประเภทเนื้อทรายหรือดินทราย ถ้าดินไดมีอนุภาคขนาดเม็ดดินเหนียวมากพอ เรียกว่า มีเนื้อดินประเภทดินเหนียว แต่ถ้าดินใดที่ไม่แสดงสมบัติออกไปทางดินทรายหรือดินเหนียว เรียกว่า ดินร่วน เกิดจากการสลายตัวของซากพืช ซากสัตว์ โดยการกระทำของจุลินทรีย์ชนิดต่างๆ ได้สารที่เรียกว่า ฮิวมัส เป็นสิ่งสำคัญมากในดิน เนื่องจากเป็นแหล่งให้อาหาร แร่ธาตุไนโตรเจนแก่พืช ช่วยอุ้มน้ำ ดูดซับอาหาร แร่ธาตุ ทำให้อนุภาคดินจับกันเป็นเม็ดดินทรงกลมทำให้ดินร่วนโปร่ง ระบายน้ำและถ่ายเทอากาศได้ดี
2.น้ำในดิน
น้ำในดิน คือ น้ำที่อยู่ในช่องว่างระหว่างเม็ดดิน มีความสำคัญมากต่อการปลูกพืช เนื่องจากน้ำในดินมีสารละลายของเกลือแร่ธาตุอาหารของพืช ดังนั้น จึงมักเรียกน้ำในดินว่า สารละลายดิน ซึ่งพืชจะดูดเข้าไปทางรากเพื่อนำไปใช้ในกิจกรรมต่าง ๆ ภายในพืช ถ้าปริมาณน้ำในดินลดลงถึงจุด ๆ หนึ่ง จนรากพืชไม่สามารถดูดน้ำขึ้นไปได้ พืชจะแสดงอาการเหี่ยวเฉาและตายในที่สุด แต่ถ้าปริมาณน้ำในดินมีมากเกินไปจะมีผลทำให้ปริมาณช่องว่างในดินลดลงไปด้วย เนื่องจากน้ำไปแทรกอยู่ตามรูพรุนของดิน รากพืชจะขาดออกซิเจนสำหรับหายใจ เมื่อปล่อยทิ้งไว้เป็นระยะเวลานาน ๆ พืชก็จะตายเช่นเดียวกัน
3. อากาศในดิน
อากาศในดินอยู่ในช่องว่างระหว่างเม็ดดินในส่วนที่ไม่มีน้ำ อากาศในดินมีส่วนประกอบแตกต่างไปจากอากาศในชั้นบรรยากาศ เนื่องจากปริมาณของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นองค์ประกอบของอากาศในดินมีมากกว่าในชั้นบรรยากาศและปริมาณของก๊าซออกซิเจนของอากาศในดินมีน้อยกว่าในชั้นบรรยากาศ ซึ่งรากพืชจะใช้เฉพาะก๊าซออกซิเจนเท่านั้นสำหรับการหายใจและการแพร่กระจาย ขยายเซลล์ของรากพืช ดังนั้นจึงต้องมีการจัดการให้ดินมีช่องว่างสำหรับระบายอากาศ
ประเภทของดิน แบ่งตามเนื้อดิน (ดินร่วน-ดินเหนียว-ดินทราย)
1. ดินเหนียว เป็นดินที่มีเนื้อละเอียด ในสภาพดินแห้งจะแตกออกเป็นก้อนแข็งมาก เมื่อเปียกน้ำแล้วจะมีความยืดหยุ่น สามารถปั้นเป็นก้อนหรือคลึงเป็นเส้นยาวได้ เหนียวเหนอะหนะติดมือ เป็นดินที่มีการระบายน้ำและอากาศไม่ดี แต่สามารถอุ้มน้ำ ดูดยึด และแลกเปลี่ยนธาตุอาหารพืชได้ดี เหมาะที่จะใช้ทำนาปลูกข้าวเพราะเก็บน้ำได้นาน
2. ดินร่วน เป็นดินที่เนื้อดินค่อนข้างละเอียดนุ่มมือในสภาพดินแห้งจะจับกันเป็นก้อนแข็งพอประมาณ ในสภาพดินชื้นจะยืดหยุ่นได้บ้าง เมื่อสัมผัสหรือคลึงดินจะรู้สึกนุ่มมือแต่อาจจะรู้สึกสากมืออยู่บ้างเล็กน้อย เมื่อกำดินให้แน่นในฝ่ามือแล้วคลายมือออก ดินจะจับกันเป็นก้อนไม่แตกออกจากกัน เป็นดินที่มีการระบายน้ำได้ดีปานกลาง จัดเป็นเนื้อดินที่มีความเหมาะสมสำหรับการเพาะปลูก
3. ดินทราย เป็นดินที่มีอนุภาคขนาดทรายเป็นองค์ประกอบอยู่มากกว่าร้อยละ 85 เนื้อดินมีการเกาะตัวกันหลวมๆ มองเห็นเป็นเม็ดเดี่ยวๆ ได้ ถ้าสัมผัสดินที่อยู่ในสภาพแห้งจะรู้สึกสากมือ เมื่อลองกำดินที่แห้งนี้ไว้ในอุ้งมือแล้วคลายมือออกดินก็จะแตกออกจากกันได้ แต่ถ้ากำดินที่อยู่ในสภาพชื้นจะสามารถทำให้เป็นก้อนหลวมๆ ได้ แต่พอสัมผัสจะแตกออกจากกันทันที ดินทราย เป็นดินที่มีการระบายน้ำและอากาศดีมาก แต่มีความสามารถในการอุ้มน้ำต่ำ มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำเพราะความสามารถในการดูดยึดธาตุอาหารพืชมีน้อย พืชที่ขึ้นบนดินทรายจึงมักขาดทั้งธาตุอาหารและน้ำ
ปัญหาทรัพยากรดิน
ในทางปฐพีวิทยา ดิน ( Soil ) เป็นเทหวัตถุธรรมชาติที่เกิดจากการสลายตัวของหินและแร่ธาตุต่างๆ ผสมคลุกเคล้ากับอินทรียวัตถุ ปกคลุมผิวโลกอยู่เป็นชั้นบางๆ เป็นวัตถุที่ค้ำจุนการเจริญเติบโตและการทรงตัวของพืช ปัญหาเกี่ยวกับดินที่พบในแต่ละพื้นที่ มีหลายประการ เช่น
1. ดินขาดความอุดมสมบูรณ์ สาเหตุสำคัญที่ทำให้ดินขาดความอุดมสมบูรณ์ เช่น การเพาะปลูกพืชแบบซ้ำซาก การเพาะปลูกและเตรียมดินอย่างไม่ถูกวิธี ดินเกิดกษัยการ หรือการพังทลายของดิน ( Soil Erosion )
2. ดินมีสภาพเป็นกรด ด่าง หรือเกลือ ดินกรดหรือดินที่มีสภาพเป็นกรด ( Acid Soil ) หมายถึงดินที่มีปฏิกิริยาทางเคมีเป็นกรดทั่ว ๆ ไป หรือมีค่าความเป็นกรดเป็นด่าง( pH ) ต่ำกว่า 7ดินด่าง หรือดินที่มีสภาพเป็นด่าง ( Alkaline Soils ) หมายถึงดินที่มีปฏิกิริยาทางเคมีเป็นด่าง มีความเป็นกรดเป็นด่างมากกว่า 7
3. ดินอินทรีย์หรือดินพรุ ดินอินทรีย์ ( Organic Soils ) หมายถึงดินที่เกิดจากการสลายตัวเน่าเปื่อยผุพังของพืชพรรณไม้ตามธรรมชาติที่ขึ้นอยู่ในแอ่งที่ลุ่มน้ำแช่ขัง ล้มตายทับถมกันเป็นเวลานานนับพันปีจน เป็นชั้นหนา ซากพืชที่เกิดจากการทับถมกันนี้ จะมีสีน้ำตาลแดงเข้ม หรือสีน้ำตาลคล้ำจนถึงดำ มีอินทรียวัตถุเป็นองค์ประกอบอยู่มากกว่า 20 % ดินชั้นล่าง เป็นดินเหนียวมีสภาพเป็นกรดจัด สำหรับคำว่า ” พรุ ” จะหมายถึงบริเวณที่ลุ่มมีน้ำขังอยู่ตลอดปีมีพืชพรรณขึ้นอยู่และตายทับถมกันเป็นเวลานานหลายพันปี เกิดเป็นชั้นดินที่มีอินทรียวัตถุล้วนๆ ความหนาของชั้นดินไม่แน่นอน แต่ใจกลางพรุจะหนามากที่สุด
4. ดินทรายจัด ( Sandy Soils ) หมายถึงดินที่มีเนื้อดินเป็นดินทรายหรือดินทรายปนดินร่วนเกิดเป็นชั้นหนามากกว่า 50 เซ็นติเมตร เนื้อดินประกอบด้วยเม็ดทรายล้วน ๆ มีขนาดค่อนข้างหยาบ มีความโปร่งตัว น้ำไหลซึมผ่านลงไปในดินล่างได้สะดวก ไม่สามารถอุ้มน้ำหรือเก็บความชื้นไว้ในดินได้ ธาตุอาหารพืชถูกชะล้างไปได้ง่ายจึงทำให้มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ ปลูกพืชไม่ค่อยจะได้ผล
5. ดินตื้น ดินตื้น ( Shallow Soils ) หมายถึงดินที่มีลูกรัง ศิลาแลงก้อนกรวดหรือเศษหินเป็นจำนวนมากอยู่ในดินตื้นกว่า 50 เซนติเมตร หรือเป็นชั้นของหิน ที่กีดขวางการชอนไชของรากพืช ทำให้ปริมาณของเนื้อดินน้อยลง จนขาดแหล่งเก็บความชื้นและธาตุอาหารสำหรับพืชเป็นอุปสรรคไม่เหมาะสมกับการ ปลูกพืชเศรษฐกิจต่าง ๆ
6. มลพิษในดิน หมายถึงภาวะที่ดินได้รับสารปนเปื้อนในปริมาณที่มากกว่าอัตราการสลายตัวหรือการเสื่อมฤทธิ์ของสารนั้นจนทำให้เกิดการสะสมของสารพิษหรือเชื้อโรคต่าง ๆซึ่งก่อให้เกิดอันตรายต่อการ เจริญเติบโตและการเจริญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศนี้

1 ความคิดเห็น: